ASP มองดัชนี SET ขยับ กังวลสงคราม-Inverted Yield Curve กดดัน
On April 6, 2022 by adminนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2/65 มองว่ายังมีโอกาสแกว่งตัวขึ้นได้ แม้จะไม่ได้ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการแกว่งตัวขึ้นที่ชะลอลง และระหว่างทางอาจจะมีแรงกดดันเข้ามาทำให้ดัชนีย่อตัวลงมาได้ โดยที่ปัจจุบันยังคงมีปัจจัยกดดันต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจากภาวะ Inverted Yield Curve ที่เป็นปัจจัยสะท้อนภาพของเศรษฐกิจที่มีโอกาสเกิดการ Recession ที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง โดยจะเห็นว่าเริ่มมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจออกมากันมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยกดดันต่อเนื่องจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและราคาต้นทุนการผลิตต่างๆ ให้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกไปแล้วในการประชุมเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และกระทบต่อต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนให้เพิ่มสูงขึ้น กดดันต่อความสามารถในการทำกำไรให้ลดลงไปมาก เป็นปัจจัยที่เข้ามารบกวนการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะสั้น
ด้านนักลงทุนสถาบันจากการสำรวจของ บล.เอเซีย พลัส ทั้งหมด 21 สถาบัน พบว่าส่วนใหญ่กลับมาถือครองเงินสดเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ถือเงินสดไว้ราว 20% เพิ่มมาเป็น 30% เนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์และความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ รวมถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจที่มีโอกาสกลับมาชะลอตัว จึงเลือกถือเงินสดเพื่อรอดูทิศทางต่างๆ ให้มีความชัดเจน และอยู่ระหว่างการหาจังหวะกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยในส่วนของนักลงทุนสถาบันที่ยังชะลอการลงทุน ทำให้ตลาดหุ้นยังขาดปัจจัยหนุนในการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น
หากมองมาที่ตลาดหุ้นไทยนั้น บล.เอเซีย พลัส มองว่าผลกระทบในด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีค่อนข้างจำกัด แม้ว่าจะมีการปรับประมาณการตัวเลข GDP ลงมาแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวที่ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ที่เศรษฐกิจกลับเข้าไปใกล้ช่วงก่อนโควิด-19 หรือเกินช่วงก่อนโควิด-19 ไปแล้ว ทำให้ Downside risk ด้านการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่กระทบต่อตลาดหุ้นไทยยังค่อนข้างจำกัด
ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคาดว่าอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่อง เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไม่ได้รับผลกระทบมาก และยังมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี รวมถึงการผ่อนคลายเปิดประเทศ และการที่ไม่ได้มีการล็อกดาวน์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และประชาชนยังคงทำงานมีรายได้ ทำให้มีกำลังซื้อกลับมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีแรงกดดันเข้ามาจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นก็ตาม แต่ถือว่ากระทบต่อภาพรวมของกำลังซื้อไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 65 บล.เอเซีย พลัส ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับปัจจัยบวกด้านราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงจะเข้ามาช่วยหนุนต่อ EPS ในปีนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งหากรวมปัจจัยบวกด้านราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้นสูงนั้นจะทำให้ประมาณการ EPS ของตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเป็น 93.9 บาท/หุ้น จากเดิมที่ 88.9 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 86.2 บาท/หุ้น สะท้อนภาพว่าบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยยังมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นได้อยู่ในภาวะที่มีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเข้ามา
นอกจากนี้ บล.เอเซีย พลัส มองว่าเงินสดจากนักลงทุนสถาบันที่ถือครองอยู่ในสัดส่วนค่อนข้ามากจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาช่วยหนุนต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เพราะเม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันที่ไหลเข้ามานั้นจะเน้นไปที่การลงทุนในตลาดหุ้นที่กำไรบริษัทจดทะเบียนยังมีความสามารถในการเติบโตได้อยู่ และเป็นตลาดหุ้นที่ยังให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่ดี ซึ่งตลาดหุ้นไทยถือว่าเป็นหนี่งในตลาดหุ้นที่น่าจะมีโอกาสที่เม็ดเงินของนักลงทุนสถาบันจะเข้ามาช่วยหนุนในครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งทาง บล.เอเซีย พลัส ยังคงประมาณการดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้ไว้ที่ 1,810 จุด ซึ่งเป็นระดับดัชนีที่มี Market Equity Yield Growth ที่ดีในระดับ 4.3% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยที่ 4%
ส่วนหุ้นที่ทาง บล.เอเซีย พลัส แนะนำการลงทุนนั้น แบ่งออกเป็น 3 ธีมการลงทุน ได้แก่ 1.กลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมือง และการฟื้นตัวขึ้นของกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอย ได้แก่ AEONTS ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเปิดเมือง ทำให้กำลังซื้อกลับมา มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และมีความต้องการในการเบิกใช้สินเชื่อส่วนบุคคลกลับมาฟื้นตัว อีกทั้งเป็นหุ้นที่มีค่า P/E ที่ถูกเพียง 11-12 เท่า และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ราว 2%
และ MAJOR ซึ่งเป็นหนึ่งหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมืองค่อนข้างมาก และหน้าหนังจากฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ และหนังไทยที่ตบเท้าเข้าฉายในปีนี้มากขึ้น และยังมีการลงทุนในบริษัทอื่นที่ยังเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพของบริษัท และ SAPPE ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองเช่นเดียวกัน และในช่วงเทศกาลและฤดูร้อนนี้จะสามารถทำยอดขายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของยอดขายเครื่องดื่มในต่างประเทศที่ยังเติบโตได้ดี
2.กลุ่มหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่กลับมา ประกอบกับการลดลงของสต๊อกที่อยู่อาศัยที่ลดลงไปมาก และความมั่นใจของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาเปิดโครงการจำนวนมากในปีนี้ สะท้อนภาพบวกของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาฟื้นตัว จาก 18 ที่บล.เอเซีย พลัส มีการทำบทวิเคราะห์ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ พบว่ามีมูลค่าการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้มากถึง 4.47 แสนล้านบาท แต่การลงทุนในกลุ่มนี้จะเลือกหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีการกระจายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเมืองและเปิดประเทศ และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดี คือ LH
3.กลุ่มหุ้นที่ยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นในระดับสูง และราคามีการย่อตัวลงมา เป็นจังหวะน่าเข้าสะสม เพื่อเก็งกำไรในช่วงที่ปัจจัยกดดันคลี่คลายลง ได้แก่ SCC ที่ได้รับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูง และราคามีการย่อตัวลงมาค่อนข้างมาก ซึ่งยังมีอัปไซด์ของราคาค่อนข้างมาก หากปัจจัยด้านต้นทุนราคาน้ำมันคลี่คลายลง รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าอย่าง GPSC ที่ราคาปรับตัวลงมาเช่นเดียวกัน เพราะความกังวลในเรื่องต้นทุนราคาก๊าซที่ใช้ในโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักของ GPSC ทำให้เป็นปัจจัยเข้ามากดดันต่อกำไรของ GPSC ในระยะสั้น แต่หากปัจจัยกดดันได้ผ่านพ้นไปแล้วยังเห็นอัปไซด์ที่เปิดกว้าง และหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังเป็นหุ้น Defensive ที่ไม่ค่อยมีความผันผวนมาก และไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากนัก
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket
Archives
Calendar
M | T | W | T | F | S | S |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 |